แนวคิดในเรื่องอะคูสติกกีต้าร์ และแนวทางการเลือกซื้อ (Think & How) ผู้เขียนเคยคิดว่ากีต้าร์โปร่งมีแค่ไม้ และสาย ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนดีดแล้วก็ดังเหมือนกัน ไม่น่ามีอะไรแปลก หลังจากได้มีโอกาสสัมผัส กับกีต้าร์โปร่งหลายประเภท ประกอบกับอ่านข้อความ รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ จึงทำให้รู้ว่า อันที่จริงแล้วกีต้าร์โปร่ง เป็นทั้งศิลปะ(Art) และวิทยาศาสตร์ (Science) ในตัวของมันเอง ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับไวน์ (Wine) เพียงแต่ด้านวิทยาศาสตร์ของไวน์เป็นชีววิทยา (Biology) ไม่ใช่กายภาพ (Physic) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือทั้ง 2 อย่างนี้ ต้องอาศัยประสาทสัมผัสของคนเราเป็นตัวพิจารณาคุณภาพของมัน มีเรื่องมากมาย เกี่ยวกับกีต้าร์โปร่งที่น่าสนใจ และน่านำ มาพูดถึง เช่น
1. ประเภทของไม้ที่ใช้ประกอบกีต้าร์โปร่ง (Tonewoods) คุณต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ไม้ที่ใช้ประกอบทำกีต้าร์โปร่งนั้น มีไม้ประเภทใดบ้าง และที่สำคัญคือ ไม้ชนิดใด ให้โทนเสียงแบบใด เพราะไม้แต่ละชนิดต่างให้เสียงที่แตกต่างกัน ไม้บางประเภทให้เสียงคม/แหลม หรือย่านเสียงสูงโดดเด่น ไม้บางประเทให้เสียงที่ทุ้ม เบสเยอะ ฟังรู้สึกอุ่นๆ ดังนั้น หากคุณสามารถเข้าใจในส่วนนี่ได้ คุณอาจจะได้กีต้าร์โปร่ง ที่ตรงตามความชอบของตัวคุณเอง
2. รูปร่างของกีต้าร์โปร่ง (Shapes) กีต้าร์โปร่งมีอยู่หลายขนาด ซึ่งแต่ละขนาด ต่างก็มีหลายรูปร่าง(Shapes) ที่ต่างกันออกไป และแน่นอนว่า กีต้าร์ที่ต่างรูปร่าง(shapes) กัน ย่อมให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้น ยังหมายถึงว่า กีต้าร์โปร่งแต่ละรูปร่าง ก็เหมาะกับการเล่นในสไตล์ที่ต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น กีต้าร์ทรง Dreadnought จะเหมาะกับการเล่นแบบ Strumming หรือตีคอร์ด ส่วนกีต้าร์ทรง O หรือ Grand ก็จะเหมาะกับการเล่นแบบ Picking มากกว่า เป็นต้น ดังนั้น คุณต้องรู้ว่า กีต้าร์ดโปร่ง shapes ใด ให้เสียงแบบไหน และเหมาะ
3. เรื่องของ Bracing ส่วนโครงสร้างภายในของกีต้าร์โปร่ง อาจจะเป็นเรื่องลึกซึ้งสักนิด แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะ Bracing เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดเสียง ว่าต้องการให้กีต้าร์โปร่งตัวนั้นๆ โด่ดเด่นย่านเสียงใด (ควบคู่ไปกับประเภทของไม้)
อาจจะเรียกอีกอย่างว่า ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมเอกลักษณ์ของเสียง ว่าจะให้กีต้าร์ตัวนั้น มีเอกลักษณ์ของเสียงเช่นใด
4. โครงรูปของไม้ (Solid, Laminated) และองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Tuners, Fret boards, Bridges, ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงองค์ประกอบ ของกีต้าร์โปร่ง ช่วยให้คุณรู้จักในการเลือกดู หรือตรวจสอบสภาพการประกอบของกีต้าร์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ดังนั้น เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เสริมความรู้ในการเลือกกีต้าร์ให้กับคุณ อย่างแน่นอน
5. สายกีต้าร์ (String) นอกจากไม้ หรือสภาพอื่นๆของกีต้าร์ จะมีอิทธิผลต่อเสียงของกีต้าร์ อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ สายกีต้าร์ ปัจจุบัน...สายกีต้าร์ มีหลากหลายประเภท ต่างก็ให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป บางประเภทเสริมเบสให้เยอะขึ้น บางประเภทเพิ่มเสียงแหลม เป็นต้น ซึ่งเรื่องสายเป็นเรื่องที่สามารถลองผิด ลองถูกได้ เพราะบางคน ลองหลายมาแล้วหลายสิบยี่ห้อ หรือหลายสิบรุ่น กว่าจะเจอะสายที่ถูกใจ ดังนั้น ลองไปเรื่อยๆ จะกว่าจะพบสาย...ที่คุณถูกใจที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อีกสิ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามคือ สภาพความพร้อมของสายกีต้าร์ บางท่านไม่เคยดูแล ปล่อยให้ขึ้นสนิม อีกแบบนี้... ต่อให้กีต้าร์ดีแค่ไหน ก็ตกม้าตาย เพราะสายคุณไม่พร้อม ดังนั้น ควรเตรียมความพร้อมตรงนี้ไว้ด้วย วิธีไม่ยากเลย...ทุกๆ ครั้งที่เลิกเล่น ก็ควรจะเช็ดด้วยผ้าสะอาด ก็น่าจะดีครับ
6. ผู้ผลิตกีต้าร์ (Luthier) บางท่าน เลือกซื้อกีต้าร์ เพราะชื่อชั้น เหมือนกับคุณจะซื้อรถยนต์สักคัน หลายๆ คน ที่จะตัดสินใจซื้อ ก็มักจะพิจารณาถึงองค์ประกอบนี้ไปด้วย อย่างน้อยๆ ถ้าซื้อมาแล้วไม่ชอบ ก็ขายต่อได้ง่าย เพราะเป็นทีรู้จักของตลาด ดังนั้น เรียนรู้ ศึกษา ที่มาที่ไปของผู้ผลิต หรือชื่อเสียงของยี่ห้อ(Brand) ไว้บ้างก็ดีครับ
7. สไตล์การเล่น (Style) ก่อนจะซื้อกีต้าร์สักตัว จะลองพิจารณาว่า ท่านชอบเล่นสไตล์อะไร? ก็น่าจะดี เพราะกีต้าร์บางตัว ก็เหมาะกับบางสไตล์การเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจจะต้องลองเล่นด้วยตัวคุณเอง เช่น ถ้าคุณชอบเล่นสไตล์ตีคอร์ด มากกว่าเล่นสไตล์ Picking คุณก็ควรต้องศึกษาก่อนว่า กีต้าร์ตัวนั้น...ที่คุณจะซื้อ มันเหมาะกับสไตล์ของคุณหรือไม่?
8. การบำรุงรักษากีต้าร์ เมื่อซื้อกีต้าร์มาแล้ว ก็ควรต้องศึกษาด้วยว่า คุณจะดูแลมันอย่างไร ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณจะมีรถยนต์สักคน ที่คุณต้องเรียนรู้ถึงวิธีการบำรุงรักษา หรือดูแล เพื่อให้มันอยู่กับเราในสภาพที่สมบูรณ์ และนานที่สุด
ทุกหัวข้อดังกล่าวมา ล้วนมีส่วนนำไปสู่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่นักเล่นกีต้าร์ทุกคนไขว่ขว้า นั่นก็คือ "เสียง (Tone)" เสียงที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงคุณภาพ หากแต่หมายถึงคุณสมบัติ และความแตกต่างของมัน ยกตัวอย่างเช่น กีต้าร์ 2 ตัว ทำจากไม้ชนิดเดียวกัน รูปทรง และส่วน ประกอบอื่นเหมือนกัน ทำโดยคนเดียวกัน เล่นเพลงเดียวกันโดยคนเดียวกัน เสียงก็แตกต่างกันได้เพียงแค่ทำ Bracing ต่างกัน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อความแตกต่างของเสียงจากกีต้าร์แต่ละตัว คือ "คนผลิตกีต้าร์" เพราะผู้ผลิตมักจะมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงพยายามทำให้กีต้าร์ที่ตัวเองผลิตออกมานั้น "มีเสียงเฉพาะตัว" โดยปรกติผู้เล่นกีต้าร์ทั่วไป อาจสามารถจำแนกคุณภาพเสียงของกีต้าร์ 2 ตัว แต่จะให้อธิบาย คุณสมบัติของเสียงจากกีต้าร์ 2 ตัว อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่มีความชำนาญและคุ้นเคย หรือผู้ผลิตอาจจะบอกได้ เปรียบเหมือนนักชิมไวน์ ที่สามารถบอกชนิด แม้กระทั่งปีผลิตของไวน์ นั้นๆ ผู้เขียนเองต้องขอออกตัวเสียก่อนว่าไม่ใช่ผู้รอบรู้เกี่ยวกับกีต้าร์โปร่งทุกเรื่อง เรื่องไหนที่ชอบและสนใจเป็นพิเศษ ก็จะค้นคว้ามาอ่านมากหน่อย คำแนะนำที่เขียนไปบางอย่างอาจมาจากความคิดเห็นส่วนตัว บางอย่างก็แปลมาจากบทความของผู้รู้ที่บันทึกไว้ เนื่องจากอันนี้เป็นบทความฉบับแรก ผู้เขียนจึงอยากจะเขียนอะไรกว้างๆ ไม่เจาะจงถึงปัจจัย 8 หัวข้อที่กล่าวไว้ข้างต้น เชื่อว่าผู้อ่านบทความนี้ คงจะมีตั้งแต่ผู้ที่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยเล่นกีต้าร์ กำลังหัดเล่น เล่นพอเป็น... หรือเป็นแล้ว ไปจนไปถึงผู้ที่มีความชำนาญ สำหรับบุคคลประเภทแรก ก็คงต้องมีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ ส่วนบุคคลประเภทหลัง ก็คงต้องมีคำตอบดีๆ ซึ่งผู้เขียนยินดีรับฟัง และนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้เป็ประโยชน์ อย่างแท้จริงกับพี่น้องชาว Acousticthai “จะเลือกซื้อกีต้าร์โปร่งตัวไหนถึงจะดี?” เชื่อว่าทุกคนคงเคยถามตัวเอง หรือไม่ก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ ก่อนที่ผู้เขียน จะให้คำแนะนำออกไป อยากจะให้ผู้อ่านพิจารณาเงื่อนไขเกี่ยวกับตัวเอง ดังต่อไปนี้ เสียก่อน.... 1. ใจรักมากแค่ไหน 2. ระดับความสามารถของการเล่น 3. สไตล์การเล่น 4. เวลา และความอดทน 5. เพื่อนที่ให้คำปรึกษาหรือป็นที่พึ่ง 6. เงินในกระเป๋า อย่าเพิ่งท้อใจนะครับ มันฟังดูยาก แต่ความจริงแล้ว ขอเพียงแต่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร คนโดยมากมักจะไม่รู้ว่า ตัวเองชอบอะไร? ผู้เขียนจึงจำเป็นต้อง ตั้งเงื่อนไขทั้ง 6 ให้เป็นแนวทางเพื่อการซื้อกีต้าร์จะได้ง่ายขึ้น ได้ของใกล้เคียง กับสิ่งที่เราคาดไว้ มากกว่าที่จะซื้อส่งเดช, ซื้อตามเพื่อน ยี่ห้อดีราคาแพง หรือว่าซื้อเพราะมันสวยดี เวลาหาซื้อกีต้าร์ควรเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด มากกว่าตอนที่ได้มาแล้วด้วยซ้ำ เหมือนแสวงหา ของรักของชอบยังไงยังงั้น สำหรับผู้ที่หัดเล่น ผู้เขียนไม่แนะนำให้ลงทุนซื้อ "กีต้าร์ราคาแพง" (ถึงแม้จะมีอำนาจกำลังซื้อก็ตาม) โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีใจรัก เวลา และความอดทนแค่ไหน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าเป็นไปได้ อยากแนะนำวิธีขอยืมเพื่อนมาลองเล่นดูก่อน (แต่ต้องถนอมเหมือนเป็นของตัวเองนะครับ) หรือไม่ก็ซื้อมือสองที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก เมื่อเล่นพอเป็นแล้ว รู้สไตล์การเล่นของตัวเองแล้ว การเลือกซื้อกีต้าร์ที่เหมาะสมจะดูง่ายขึ้น ควรไปดูกีต้าร์หลายๆ ร้าน เอาเพื่อนคู่หูไปด้วย ไม่ควรด่วนตัดสินใจ เพราะว่ามันดูสวย หรือคนขายบอกว่ายี่ห้อดีเป็นที่นิยม คุณควรลองเล่นทุกตัวที่คุณสนใจ... ด้วยสไตล์การเล่นของคุณเอง โดยใช้เพลงเดียวกัน และให้เพื่อนช่วยฟัง เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของตัวเองต่อกีต้าร์ที่เล่นอยู่ ตัวที่คุณเลือกควร เป็นตัวที่กระชับมือ เล่นง่าย เหมาะสมกับสไตล์ที่คุณเล่นที่สุด จากนั้นถึงคำนึงถึงเงินในกระเป๋า สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้เสียแต่ตอนนี้คือ "ไม่มีกีต้าร์ตัวไหนตัวเดียวในโลก ที่จะสามารถทำทุกอย่าง" หรือ "ในทุกสถานการณ์" ให้เราได้หมด ไม่เหมือนถุงเท้า,ถุงน่อง ที่มีประเภท One Size Fits All โอกาสที่คุณจะซื้อกีต้าร์ ตัวที่ 2, 3, 4 ที่ดีกว่า ในอนาคตมีแน่นอน ถ้าคุณยังมีใจรัก ถึงตอนนั้น เชื่อว่าคุณก็คงจะมีความรู้เกี่ยวกับประเภทของหน้าไม้ รูปร่าง และองค์ประกอบอื่นๆ ของกีต้าร์โปร่ง เพื่อใช้ในการพิจารณากีต้าร์ตัวถัดไป ที่เหมาะกับคุณยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น